โลกวิถีใหม่ที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติ โรคภัยและโรคอุบัติใหม่ ทำให้ประชาคมโลกและหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศ ทั้งในยามปกติสุขและภาวะไวรัสโควิด-19แพร่ระบาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือ กับ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทจันวาณิชย์ จำกัด โดยได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดีเดย์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G หรือ Thailand Health Data Space เพื่อใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกเครืองระบบสุขภาพในทุกมิติ ตั้งแต่การส่งข้อมูลข้าม รพ. การวินิจฉัย การบำบัดรักษา ติดตามฟื้นฟู ทำให้แพทย์สามารถบำบัดรักษาในภาวะฉุกเฉิน ช่วยชีวิตคนไข้ได้ทันเวลา คนไข้ได้รับบริการสุขภาพที่ดีในทุกพื้นที่ของประเทศ ลดภาระความแออัดของรพ. และความเสี่ยงของบุคคลากรแพทย์ พัฒนาบริการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมไปกับส่งเสริมป้องกันสุขภาพคนไทย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G (Thailand Health Data Space 5G) เป็นการพัฒนาโครงสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ Big Data ของประเทศอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของไทย ส่วนประกอบมี 3 ส่วน คือ 1. Big Data Infrastructure แพลตฟอร์มข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลการแพทย์-สุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน 2. ระบบข้อมูลของเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งภายใน รพ. และระหว่าง รพ. หน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่ให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่มาจาก รพ. อื่นได้อย่างรวดเร็ว โดยคนไข้จะกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนได้ 3. แอปพลิเคชัน ซึ่งจะรวบรวมเครือข่ายแอปพลิเคชันบริการด้านสุขภาพ สตาร์ทอัพต่างๆ การให้คำปรึกษา บริการสุขภาพทางไกล (Telemedicine) ระหว่างแพทย์และคนไข้ โครงการฯ นี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 จากสำนักงาน กสทช. โดยมีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จ ดังนี้
•ระยะที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Big Data สารสนเทศการแพทย์ และตัวอย่างทดสอบ THDS Sandbox ในโรงพยาบาลเป้าหมาย
•ระยะที่ 2 การพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับเครือข่ายโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
•ระยะที่ 3 การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับบริการและเฮลท์เทคจากภาคีพันธมิตรที่ผู้ป่วยอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้
โดยมี ดร.เคอิตา โอโน่ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้จัดเวิร์คช็อปลงพื้นที่ เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแพทย์และบุคลากรสุขภาพให้เข้าใจถึงกระบวนการของงานการแพทย์ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนของกลุ่มโรคและการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้การวางแผนและดำเนินโครงการนี้ตอบโจทย์ผู้ใช้ข้อมูลในทุกระดับอย่างแท้จริง การผนึกความร่วมมือทั้ง 5 องค์กรครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนของสาธารณสุขของไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฮลท์เทคและการเป็น Medical Hub ตอบรับสังคมและเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
นายแพทย์อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการ Thailand Health Data Space 5G นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศไทย กล่าวคือ ประโยชน์ด้านสังคม เรากำลังจะสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพและเข้มแข็งยั่งยืน โดยทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพของไทยเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความอุ่นใจไว้วางใจ ประโยชน์ด้านการแพทย์/สาธารณสุข ทำให้ระบบมีความเข้มแข็งและก้าวหน้า โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง การไหลเวียนของข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อบุคคลากรและหน่วยงานการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะ ด้านผู้ป่วย ได้รับประโยชน์จากบริการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว มีคุณภาพ ความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน สามารถเก็บประวัติสุขภาพและนำมาใช้ประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพของตนและครอบครัวได้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยมี รศ.ดร.สุชาติ แย้มแม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศ.นพ. ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทพัฒนาในส่วนที่ 3 ของโครงการ คือ แอปพลิเคชัน "หมอรู้จักคุณ (Med Care)” ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง 5G จะเปิดให้บริการกับคนไทยทุกคนผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ผู้ใช้สามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้รพ.ใดส่งข้อมูลตนเองเข้าสู่ระบบได้บ้าง และสามารถแจ้งยกเลิกการอนุญาตได้ด้วยแอปพลิเคชัน "หมอรู้จักคุณ” ประกอบด้วย 4 บริการ คือ 1. แอปพลิเคชัน-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบบการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระยะไกล ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ลดภาระของโรงพยาบาล 2. แอปพลิเคชัน-ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัวและแหล่งบริการทางการแพทย์ 3. แอปพลิเคชัน-คลินิกหมอครอบครัว บันทึกข้อมูลทางการแพทย์สำหรับเครือข่ายเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และทีมแพทย์หมอครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ใช้ในการติดต่อผู้ป่วย ลงข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบง่ายขึ้น ไม่ต้องลงข้อมูลซ้ำซ้อน 4. แอปพลิเคชันหมอรู้จักคุณ / อสม. สำหรับการทำงานด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขภาพ การติดตามคุ้มครองผู้บริโภค
คุณธนพล กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ไม่ป่วยนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนให้ระบบสาธารณสุขไทยที่เป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพและการแพทย์ในกรณีที่จำเป็นจะช่วยให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการรักษาได้เป็นอย่างเหมาะสม และการยกระดับระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย (Thailand Health Data Space 5G) ในครั้งนี้เกืดขึ้นจากความร่วมมือที่ดีและเหมาะสมจะทำให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย และข้อมูลสุขภาพได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบผ่านการเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ภายใต้มาตรฐานระดับโลกที่นานาประเทศยอมรับ อาทิ มาตรฐาน European Health Data Space ตลอดจนลักษณะการเก็บและการจัดการข้อมูลในมาตรฐาน HL7 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่หน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศยอมรับและนำไปใช้ เนื่องจากข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลละเอียดอ่อน แพลตฟอร์ม THDS จึงต้องมีระบบความปลอดภัยของข้อมูล ผ่านการเข้าถึงข้อมูลอย่างปลอดภัยและถูกต้อง
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย นั้นจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยง “เทคโนโลยี” (Technology) และ "บริการเชิงสังคม"(Social Services) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกผ่าน 1.ข้อมูลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ 2.การใช้ประโยชน์ของข้อมูลและการประยุกตุ์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ 3.ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) 4. การยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาสุขภาพ (Health Quality) 5.ความมั่นคงทางสังคม (Social Security) 6.ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ (Trusted Provider) 7. ความสะดวกสบายในการใช้บริการ (Comfortability) สุดท้ายคือ 8. ความโปร่งใส (Transparency)
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th