ประวัติความเป็นมาคณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งสืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลจึงมีนโยบาย ที่จะสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ที่มีโครงสร้าง ปัจจัยพื้นฐาน ศักยภาพขีดความสามารถ และความพร้อม เปิดสอนในสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในขณะนั้น จึงพิจารณาว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่มีความพร้อม ที่จะเปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้เป็นอย่างดี จึงได้เริ่มดำเนินการเป็นลำดับดังนี้ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ เป็นอธิการบดี จัดทำโครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยจัดทำรายละเอียด โครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ๔ สาขา คือ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอุตสาหการ เสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ๔ ตุลาคม ๒๕๓๒
สภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติเห็นชอบ การจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๒ ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และการแบ่งส่วนราชการ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ การจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และการแบ่งส่วนราชการ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อในสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๓
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีคณบดีท่านแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชื่อ ดร.ธนากร อ้วนอ่อน ผู้มีวุฒิปริญญาตรีและโททางวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาเอกทางวิศวกรรมโยธา (แหล่งน้ำ)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับนักศึกษารุ่นที่ ๑ ในปีการศึกษา ๒๕๓๓ จัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยในช่วงแรกได้อาศัยอาคารโรงประลองของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เป็นสำนักงานและอาคารเรียนชั่วคราว จนกระทั่งในปี ๒๕๓๖ กลุ่มอาคารอำนวยการ (อาคาร ๑) อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (อาคาร ๒) ก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถใช้ดำเนินการเรียนการสอนได้อย่างเต็มรูปแบบ
ต่อมายังได้รับงบประมาณตามแผนพัฒนาโดยมีอาคารเรียนและปฏิบัติการหลังใหม่ (อาคาร ๓) ในปี ๒๕๔๒ นอกเหนือจากความพร้อมด้านอาคารสถานที่แล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้อครุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการเรียนการสอน การทำวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคมอีกนับเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท นับจากปี ๒๕๓๖ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเพียง ๔ หลักสูตร และมีนักศึกษารุ่นแรกเพียง ๔๐ คน
ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ๙ หลักสูตร คือ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรนานาชาติ ส่วนในระดับปริญญาโท
คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เปิดการเรียนการสอน ๗ หลักสูตร คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (นานาชาติ) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาวิศวกรรมเคมีบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดยในแต่ละปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศถึงปีละประมาณมากกว่า ๓๐๐ คน
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th