วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ดวงพรรณ กริชชาญชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “Cold Chain Logistics: การพัฒนาโซ่ความเย็นของวัคซีน COVID-19 เพื่อควบคุมอุณหภูมิและติดตามสอบย้อนกลับในการขนส่งและเก็บรักษา” นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และรูปแบบออนไลน์ ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ได้แพร่กระจายในประเทศไทยและรวมถึงหลายพื้นที่ทั่วโลก ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลงได้เร็ว คือ การผลิตวัคซีนที่สามารถต้านทานไวรัสโควิด-19 และจัดการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการ ระบบการจัดการโลจิสติกส์โซ่อุปทานความเย็น จึงเป็นหลักการสำคัญในการเข้ามาช่วยพัฒนา ออกแบบ การขนส่งและระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นวัคซีนที่สามารถควบคุมอุณหภูมิตลอดระยะเวลาการขนส่ง จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับวัคซีนโควิด-19 ขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริงของการขนส่งวัคซีน ตลอดจนมั่นใจว่าวัคซีนนั้นถูกเก็บรักษาและขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้วัคซีน ด้วยระบบแพลตฟอร์ม ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 และระบบการกระจายวัคซีน เพื่อคำนวณปริมาณความต้องการของการฉีดวัคซีนแต่ละพื้นที่ให้มีความทั่วถึงกับปริมาณของวัคซีนที่ทยอยสั่งเข้ามาในประเทศไทย”
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “ระบบแพลตฟอร์มนี้เชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงกัน จะแสดงผลรายละเอียดวัคซีนทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตวัคซีน ทั้งในประเทศและการนำเข้า การจัดเก็บวัคซีน การขนส่งและกระจายวัคซีน COVID-19 ด้วยขนส่งอะไร เมื่อไร ไปที่ไหน ให้ใคร รวมถึงข้อมูลการควบคุมความเย็น ของระดับอุณหภูมิตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้ขนส่ง ไปจนถึงโรงพยาบาลผู้ให้บริการ และประชาชนผู้รับบริการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและบุคลากร ที่ได้รับวัคซีนให้มีความมั่นใจว่าคุณภาพของวัคซีนที่ได้รับนั้น มีประสิทธิภาพและคงคุณภาพดี ทั้งนี้ ระบบติดตาม-ตรวจสอบ-ย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 จะนำชุดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่ได้กรอกไว้ในระบบกลาง Co-Vaccine ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีข้อมูลตั้งแต่การลงทะเบียนบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าวัคซีน ตลอดจนผู้รับบริการวัคซีน มาเชื่อมต่อข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อแสดงผลด้าน Supply Chain and Logistics นอกจากนี้ ระบบติดตาม-ตรวจสอบ-ย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 สามารถติดตาม-ตรวจสอบ-ย้อนกลับ เมื่อพบปัญหาได้ เช่น กรณีที่เกิดปัญหาวัคซีน ระบุวันหมดอายุไม่ชัดเจน มีรอยแก้ไข เป็นต้น แพลตฟอร์ม COVID-19 Vaccines Track and Traceability จะสามารถสืบค้นได้ว่าวัคซีนอยู่ที่ไหน ฉีดให้ใคร จะทำให้สามารถเรียกคืนวัคซีนได้ทันสถานการณ์ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ในด้านการเก็บรักษาวัคซีน โดยใช้ระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain) จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ โดยวัคซีนที่ประเทศไทยนำเข้าในปัจจุบัน คือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และ ซิโนแวค (Sinovac) จะต้องมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 2-8 องศา ตลอดโซ่อุปทาน โดยมีระบบ Sensor Monitoring คอยตรวจระดับรักษาความเย็นและคอยเก็บข้อมูล ติดไว้ที่รถขนส่ง และตู้แช่วัคซีนในรพ. นอกจากนี้ ระบบติดตาม-ตรวจสอบ-ย้อนกลับโซ่ความเย็นวัคซีนโควิด-19 สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ตลอดโซ่ความเย็น (Cold Chain) ผ่านระบบ IoT ตั้งแต่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ปริมาณ วัคซีนที่ผลิต นำเข้าหรือจัดซื้อ, อุณหภูมิการจัดเก็บ จำนวนและชนิดของวัคซีนที่กระจายไปให้แต่ละโรงพยาบาล, และข้อมูลผู้รับบริการวัคซีน โดยแต่ละกล่องของวัคซีนนั้นจะมีหมายเลข Serial ระบุอยู่ เพื่อป้องกันการผิดพลาด สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้อย่างดี และก้าวผ่านวิกฤติไปพร้อมกัน
โครงการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบนี้ให้เกิดขึ้น คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), องค์การเภสัชกรรม (GPO), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมควบคุมโรค, บริษัทผู้นำเข้า, ผู้ขนส่งวัคซีน, กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท AI and Robotics Venture (ARV) และบริษัท โนวากรีน เพาเวอร์ ซิสเท็ม จำกัด
คลิกชมวีดิโอข้อมูล Cold Chain Logistics
https://www.youtube.com/watch?v=MRDhW9xxJ18
คลิกเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม Cold Chain Logistics
https://datastudio.google.com/u/0/reporting/731713b6-a3c4-4766-ab9d-a6502a4e7dd6/page/JMn3B
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th