วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุม Kick Off แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ปีที่ 2 และกล่าวแถลงเจตจำนงร่วมกันวิจัย
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมและการสนับสนุนทุนวิจัย ปีที่ 2 และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยฯ กล่าวแถลงผลงานวิจัยระยะที่ 1 รวมถึงแผนงานวิจัยระยะที่ 2 “รับมือวิกฤตน้ำหลังโควิด 19” ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
สำหรับโครงการวิจัยระยะที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในโครงการวิจัย เรื่อง “การปฏิบัติการระบบอ่างเก็บน้ำรูปแบบใหม่สำหรับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนระยะยาวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ (ระยะที่ 2)” โดยมี รศ.ดร.อารียา ฤทธิมา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำปีที่ 2 โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ (ODU) ของแผนงาน และมี ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ เป็นผู้อำนวยการ
รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ กล่าวว่า “เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด อยู่คู่คนไทยมานาน ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยี AI และ IoT ที่มีความเกี่ยวข้องในการจัดการข้อมูล Data เป็นเรื่องที่ดีที่มีจะมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่องของการบูรณาการที่มีการทำงานร่วมกันข้ามสถาบันการศึกษา ข้ามศาสตร์ด้านต่าง ๆ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะช่วยกันเพื่อประเทศชาติของเราได้เป็นอย่างดีครับ”
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย มุ่งเน้นที่จะพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการกำหนดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในลักษณะของปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำร่วมกันแบบหลายอ่างรูปแบบใหม่อย่างเป็นระบบ (Multiple Reservoir Re–operation System) สำหรับประยุกต์ใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์จากการวิจัยได้มีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำที่อาศัยองค์ความรู้ที่ทันสมัยทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence–AI) ซึ่งนับได้ว่าเป็นการบูรณาการการทำงานวิจัยของคณะนักวิจัยจากต่างคณะในมหาวิทยาลัยมหิดล และจากต่างสถาบัน ร่วมกับหน่วยงานภาคปฏิบัติ ได้แก่ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ
คณะนักวิจัยประกอบด้วย
1. รศ.ดร.อารียา ฤทธิมา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. อ.ดร.ยุทธนา พันธุ์กมลศิลป์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
3. อ.ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. อ.ดร.วุฒิชาติ แสวงผล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
5. อ.ดร.จิดาภา ไกรสังข์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
6. รศ.ดร.วราวุธ วุฒิวณิชย์ ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th