วันที่ 1 เมษายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน (AIS) ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมศึกษาวิจัย โครงการ “การพัฒนาและปรับปรุงระบบปฏิบัติการของรถนำทางอัตโนมัติ และแขนกลอัจฉริยะของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบแหล่งกำเนิดรังสีแบบเคลื่อนที่” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบแหล่งกำเนิดรังสีแบบเคลื่อนที่ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ปรับปรุงระบบปฏิบัติการของรถนำทางอัตโนมัติ (AGV) และแขนกลอัจฉริยะ (COBOT) ให้สามารถปฏิบัติการได้ตามซอฟต์แวร์การสร้างโมเดลสถานที่ และซอฟต์แวร์การสร้างเส้นทางของหุ่นยนต์ และเพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเอกชน อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี อาจารย์ ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วย คุณสมบูรณ์ มาตรคำจันทร์ ผู้อำนวยการพันธมิตรด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เป็นสักขีพยานในการลงนาม ณ ห้อง Innogineer Maker Studio ชั้น 1 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภายในงานมีการเปิดตัวนวัตกรรม UVC Moving CoBot หุ่นยนต์สร้างพื้นที่ปลอดไวรัส...ฟื้นชีวิต-เศรษฐกิจไทย ตอบรับการเปิดประเทศ UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ มีส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง ซึ่งทำงานร่วมกัน คือ 1. แหล่งกำเนิดรังสียูวีซี ขนาดกำลังอย่างน้อย 16 วัตต์ ขนาดหลอดยาว 25 - 35 เซนติเมตร ติดตั้งบนปลายแขนของหุ่นยนต์แขนกล 2. หุ่นยนต์แขนกล ซึ่งแขนด้านหนึ่งของหุ่นยนต์ติดตั้งแหล่งกำเนิดรังสียูวีซี และแขนอีกด้านหนึ่งเป็นฐานของหุ่นยนต์ ติดตั้งเข้ากับ AGV รถนำทางอัตโนมัติ สามารถครอบคลุมการฉายรังสีในระยะ 65 - 75 ตารางเซนติเมตร เคลื่อนไหวได้ความเร็วต่ำสุด 2 เซนติเมตร/5 นาที และความเร็วสูงสุด 110 เซนติเมตร/นาที ยกโหลดน้ำหนักวัตถุได้ 5 กิโลกรัม 3. รถนำทางอัตโนมัติ (Automated Guide Vehicle : AGV) สามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่มีแถบแม่เหล็กกำหนดไว้ ตัวรถมีความเร็วในการเดินทางไม่ต่ำกว่า 8 เมตร/นาที สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นระบบขับเคลื่อน 4. ระบบเครื่องจักรมองเห็น (Machine Vision) ทำหน้าที่ค้นหาสัญลักษณ์เพื่อประเมินผลคุณลักษณะของวัตถุภายในพื้นที่ โดยระบบจะจดจำวัตถุและออกคำสั่งการเคลื่อนที่ตามที่บันทึกไว้หรือรหัสบาร์โค้ด
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th