คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) ร่วมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในโครงการ “EGMU Mobile Battery Charger” นำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หมดความจำเป็นในการใช้งานแล้วมารีไซเคิลพัฒนาเป็นนวัตกรรม “ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ” (Mobile Battery Charger) ส่งมอบให้แก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และโรงพยาบาลต่าง ๆ รวม 4 แห่ง เพื่อบริการแก่ประชาชน
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ “EGMU Mobile Battery Charger” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม ตอบรับยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมกับ ทีโอที ซึ่งได้มอบตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 5 ตู้ เราจึงนำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็น “ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ” (Mobile Battery Charger) ต้นแบบให้แก่ชุมชนและสังคม นำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้แผงโซล่าเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 12 โวลต์ 50 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 12 วัตต์ 5.5 แอมป์ จากนั้นนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มาเก็บในประจุพลังงานเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถรองรับโทรศัพท์มือถือได้ทุกรุ่น และสามารถชาร์จได้พร้อมกันถึง 5 เครื่อง ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที
สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาจิตอาสา และบุคลากรจากหลายคณะ มาร่วมกันพัฒนาโดยใช้ความรู้และทักษะทางวิศวกรรม ชุบชีวิตให้สิ่งของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง พร้อมทั้งส่งมอบให้แก่สถานพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ 1 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก 2. โรงพยาบาลพุทธมณฑล 3. โรงพยาบาลนครชัยศรี และ ชุมชน 1 แห่ง ได้แก่ อบต. ศาลายา นอกจากนี้ จะมีวิทยากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำถึงวิธีการใช้งานและการดูแลรักษา พร้อมคู่มืออีกด้วย
ดร.ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักพัฒนาและปฏิบัติการสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลหลักของประเทศ มีภารกิจในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้า ที่ผ่านมา ทีโอที ได้สนับสนุนบริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลสำหรับบริการด้านสาธารณสุขตลอดมาโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นระบบแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine, การมอบ Sim Card, บริการ TOTmobile สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการนัดหมายผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดของสถานพยาบาลและการนำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้ใช้งานแล้วนำมาปรับปรุงใช้เป็นตู้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Covid-Test Station) มอบให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ กว่า 200 ตู้ และการนำมาปรับใช้เป็น “ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ” (Mobile Battery Charger) ในครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งประยุกต์ใช้คุณประโยชน์จากอุปกรณ์ของ ทีโอที ซึ่งประหยัดพลังงานและปลอดมลพิษเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยรวมถึงผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล และในอนาคต ทีโอที พร้อมสนับสนุน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่ประชาชนต่อไป
นายแพทย์ตะวัน อินทิยนราวุธ รองผู้อำนวยการ ศูนย์การแพทย์กาญจนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในยามปกติและภาวะโรคระบาดโควิด-19 โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชนและมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชน ในแต่ละวันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการมากมาย ทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย การติดต่อสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ “ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ”พลังแสงอาทิตย์ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบให้นั้นเป็นประโยชน์อย่างมากในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างบุคลากร คนไข้ และครอบครัวคนไข้ ให้สามารถติดต่อและดูแลกันได้อย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ห่างไกลกัน
หากหน่วยงานหรือองค์กรใดสนใจ “ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานวิศวกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.089-0058215
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th