วันนี้ (26 พ.ค. 63) เวลา 11.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกกำลัง 3 ผู้นำเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ 5G ของไทย ได้แก่ ทรู เอไอเอส และทีโอที ซึ่งโดดเด่นในศักยภาพอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย มาเพิ่มประสิทธิภาพให้ “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit)” รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้เป็นอย่างดี เพื่อชีวิตและสุขภาพของคนไทย โดยมี ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานการแถลงข่าวร่วมกับ รศ. ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุม 101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SIMR) ชั้น 1 รพ.ศิริราช
ความรวดเร็วในการรักษาเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่ปี 2561 หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบนรถไปแล้ว 287 ราย ผลสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถ ตลอดเวลามีการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถเปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน ทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยผู้นำเครือข่าย 5G เรามุ่งพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่เกิน 4 ชั่วโมง โดยผู้พบผู้ป่วยโทรแจ้ง 1669 เข้าศูนย์เอราวัณ ทางศูนย์ฯ จะคัดกรอง แล้วแจ้งต่อไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในเขตที่ดูแลเพื่อให้เข้าไปรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจคัดกรองอาการและนำผู้ป่วยมาที่จุดนัดพบสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ขณะเดียวกันทางศูนย์เอราวัณก็แจ้งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่มีผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้รับสายและซักถามอาการ และตามทีมแพทย์ พยาบาล นักรังสีการแพทย์ และพนักงานขับรถ ให้ออกปฏิบัติการรับผู้ป่วย เพื่อการรักษาในรถของหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่จุดนัดพบ ตามที่ได้ประสานงานไว้แล้ว ขณะนี้ รถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดแล้วเสร็จของรถคันที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 และคันที่ 3 และ 4 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563
ด้าน รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในรูปแบบของรถมาจากความคิดริเริ่มของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561 ซึ่งต่อมาในปี 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาความก้าวหน้าทางสมรรถนะและเทคโนโลยี ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากสองปีที่เปิดบริการแก่ประชาชนสามารถรองรับการรักษาช่วยผู้ป่วย 287 ราย ตอบโจทย์การแพทย์-ดิจิทัลเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค สำหรับ ปี 2563 นี้ จะเป็นรถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน ด้วยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การนำของ รศ. นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และ ผศ. ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนการและผู้เชี่ยวชาญ โดยทีมวิศวกรและนวัตกรผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างรถ ระบบวิศวกรรมต่าง ๆ และระบบการสื่อสารภายในรถที่ก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยี โดยใช้วัสดุและซัพพลายในประเทศไทยและอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยด้านยานยนต์ ตามมาตรฐานสหภาพยุโรป หรือ EU วางระบบไฟฟ้าบนแพลทฟอร์มระบบขับเคลื่อนหลักสามารถปรับใช้ได้ทั้งแบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือ ไฮบริดแบบปลั๊กอิน หรือ EV ครบครันด้วยระบบกู้ชีพ และระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสาร 5G ด้วยซิม นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังบริหารจัดการระบบอำนวยการแพทย์และระบบปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีศูนย์ควบคุมทางการแพทย์ ณ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และมีศูนย์ทดสอบสมรรถนะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อีกด้วย
เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูง ผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ Mobile Stroke Unit จะช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูงจะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผน และทำการรักษาของบุคคลากรการแพทย์สามารถกระทำได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้น การมีเทคโนโลยี 5G จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนคนไทย
ในส่วนของการสนับสนุน นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูพร้อมให้การสนับสนุนโรงพยาบาลศิริราช ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมากลุ่มทรูร่วมเป็นช่องทางในการรับบริจาคในหลายๆ โครงการ รวมถึงการร่วมสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรฯ และในช่วงโควิด-19 ทรูได้มอบอุปกรณ์การสื่อสารพร้อมซิมให้แก่ศิริราช เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของโรงพยาบาลให้เป็นออนไลน์มากขึ้น ทั้งการรักษา ติดตามอาการคนไข้ผ่านวิดีโอคอลล์ ในวันนี้ทรูได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำศักยภาพเทคโนโลยี True 5G เครือข่ายอัจฉริยะของกลุ่มทรู ซึ่งมีจุดเด่นทั้งเรื่องของศักยภาพความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช โดยเชื่อมต่อด้วยซิม True 5G-Ready และอุปกรณ์รับสัญญาณ CPE 5G ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G ที่ได้ติดตั้งไว้แล้วภายในโรงพยาบาล และตลอดเส้นทางที่รถพยาบาลวิ่งผ่าน เพื่อนำส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้เป็นอย่างดี
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ (Mobility) เป็นการรักษาพยาบาลรูปแบบหนึ่ง ที่สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เอไอเอสมุ่งนำศักยภาพ เครือข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ร่วมพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยรอบด้าน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุน ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกระดับการแพทย์เคลื่อนที่ให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยนำศักยภาพเครือข่าย 5G, 5G CPE อุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ 5G , ซิมการ์ด 5G เข้ามาเสริมประสิทธิภาพหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เพิ่มขีดความสามารถการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยนำเครือข่าย 5G เข้ามาเสริมประสิทธิภาพระบบปรึกษาทางไกลกับแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ทางโรงพยาบาล พร้อมกล้องส่งสัญญาณภาพ เพื่อให้แพทย์สนทนากับผู้ป่วยขณะอยู่บนรถ เพื่อวินิจฉัยการรักษาเบื้องต้น และเตรียมพร้อมวางแผนการรักษาก่อนมาถึงโรงพยาบาล เพื่อร่วมดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยและยกระดับการรักษาพยาบาลให้เข้าถึงคนไทยได้อย่างไร้ข้อจำกัด สอดคล้องกับแนวคิด 5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราช ในความร่วมมือทางวิชาการ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประชาชน ด้วยเป้าหมายให้ประชาชนทุกพื้นที่มีโอกาสได้รับบริการ หรือได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ทีโอที ให้ความสำคัญกับการให้บริการโทรคมนาคม และบริการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากศักยภาพของโครงข่าย 5G ที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้การรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ มีความละเอียดสูง สามารถสื่อสารผ่านระบบแพทย์ทางไกลความเร็วสูง ทำให้การสื่อสารมีความสะดวก รวดเร็ว คุณภาพสูง มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การประสานงานส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยรถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉิน มาสู่รถ Siriraj Mobile Stroke Unit ด้วยความปลอดภัย ซึ่งการบริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขของไทย ทีโอที ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการกระจายโอกาสที่ประชาชนทุกคนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว และในอนาคต ทีโอที มีแผนงานที่จะใช้คลื่น 5G นำไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพในด้านอื่น ๆ เพื่อจะมีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป
***************************
ผู้ร่วมแถลงข่าว
1. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
2. รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส
5. นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th