วันที่ 31 มกราคม 2563 รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ภายในปี พ.ศ. 2565 กับอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษานำร่อง 6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ถนนศรีอยุธยา)
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะรักษาการแทนอธิการบดี เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้าร่วมในพิธีและลงนามเป็นสักขีพยาน โดยการลงนามในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน และสนับสนุนในการขับเคลื่อนเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศาสตราจารย์เมธี เวชารัตนา นายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา ผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษานำร่อง และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 90 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ของสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เพื่อส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลักดันให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ไทยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและสมรรถนะในการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากลและสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการสร้างภาคีเครือข่ายต่างประเทศ โดยหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานคุณภาพเทียบเคียงกับนานาชาติจะสามารถขยายความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการเข้าศึกษาต่อของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำต่างประเทศที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาภายใต้ข้อตกลงในระดับนานาชาติร่วมกันทั้งในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ได้แก่ การประชุมวิชาการและการจัดอบรมให้ความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์ของ ABET การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการรับรอง การจัดให้ผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปตรวจรายงานการศึกษาตนเอง (Self-Study Report: SSR Review) และทดลองประเมิน (Mock Visit) ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
การจัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก ABET ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ
1) เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ มีแนวทางที่ชัดเจน สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2565
2) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีมาตรฐานคุณภาพสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของ ABET และขยายผลไปสู่สถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นต่อไป
3) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในระดับสากล โดยคณะอนุกรรมการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ หรือ TABEE (Thailand Accreditation Body for Engineering Education) กำลังก้าวไปสู่การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์ผลลัพธ์เพื่อเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่เทียบเคียงกับนานาชาติ
รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวว่า “การพัฒนาการจัดการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้มีมาตรฐานคุณภาพในระดับสากล จะเป็นการยกระดับทรัพยากรบุคคลด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและสร้างโอกาสในการทำความร่วมมือกับต่างประเทศและการทำงานข้ามชาติของวิศวกรไทย ภาพคุณภาพบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคตจะเปลี่ยนไป สามารถไปแข่งขันหรือยืนอยู่ในเวทีโลก อันจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาและจัดการศึกษาในสาขาวิชาอื่น ๆ ของไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์สังคมและตลาดแรงงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก สร้าง Global Citizen ที่มีคุณภาพทั้งด้านความรู้ ทักษะและสมรรถนะในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมพร้อมสำหรับอนาคต”
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th