ความก้าวหน้าของเฮลท์เทค(HealthTech)ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและสุขภาพยุคดิสรัพชั่น ทั้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนรับเทรนด์เติบโตของตลาดโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม รองรับสังคมสูงวัยและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปี 2020 คาดว่ามูลค่า HealthTech ในตลาดโลกจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในประเทศไทยตลาดส่งออกและนำเข้า มีมูลค่าปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แต่ประเทศไทยยังขาดสตาร์ทอัพด้านนี้อีกมาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ Royal Academy of Engineeringแห่งประเทศอังกฤษ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแข่งสุดยอดไอเดียเฮลท์เทค“Global HealthTech Hackathon Challenges 2019” ณ อินโนจีเนียร์ (Innogineer Studio) คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้เข้าแข่งขันแฮคกาธอน จำนวน 196 คน
ในงานนี้ได้จัด เสวนา เรื่อง “เฮลท์เทค...พลิกเปลี่ยนโลก” (HealthTech as a Global for Change) โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณมนฑา ไก่หิรัญ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.โทมัส สจ๊วต อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสินผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.เคตะ โอโน่ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณมนฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีจุดมุ่งหมายในปีนี้ต้องการผลักดันประเทศไทยให้เป็น ชาติแห่งสตาร์ทอัพ หรือ Startup Nationโดยมีกรุงเทพมหานครเป็น Global Startup Hub แห่งภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันนิวยอร์คเป็นศูนย์กลางการเงินและสตาร์ทอัพของโลก สำหรับประเทศไทย ในปี 2018 มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่จดทะเบียนจำนวน 1,700 ราย ในระบบของ Startupthailand.com มีการระดุมทนสำเร็จเป็นเงินกว่า 520 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดย 49% ของสตาร์ทอัพอยู่ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ, 26% อยู่ในระยะ A, 9% อยู่ในระยะ B และ 6% ถูกซื้อหรือเทคโอเวอร์ ในด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพเฮลท์เทคในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve)NIA มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เกิดเฮลท์เทคสตาร์ทอัพ ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้าง โดยมีแนวทางที่จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัยระดับเชิงลึก ยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน ความร่วมมือจัด Global HealthTech Hackathon 2019 ระหว่าง NIA และ ศูนย์บ่มเพาะและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม (Innogineer Studio) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกแนวคิดธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการแพทย์และสุขภาพ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เฮลท์เทค” เป็นความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยีDeepTech ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และอื่น ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะในรูปแบบ ดาต้าเบส ที่เข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ข้อมูลการรักษา หรือระบบการจัดการทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ การบริการคนไข้และการเพิ่มประสิทธิภาพห้องทดลอง เป็นต้นวันนี้โลกแห่งการดูแลสุขภาพนั้นเปลี่ยนไปชัดเจน อย่างแรก คือ การเปลี่ยนจากดูแลสุขภาพแบบพบหมอเมื่อเจ็บป่วย มาเป็นการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาในการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)ซึ่งเป็นแนวคิดการรักษาโรคให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์ถึงดีเอ็นเอ ปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค ตัวอย่างเช่น ระบบการติดตามด้วยเซนเซอร์วัดสถิติร่างกาย (Dry Sensor) ประเภทอุปกรณ์นับจำนวนก้าว ระยะเวลาการนอน ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้งานมากกว่าล้านคนทั่วโลกตามจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตขึ้น และเซ็นเซอร์ที่ต้องตรวจผ่านเลือด (Wet Sensor) ได้แก่ ระบบวัดระดับกลูโคส ระบบวัดอัตราการเต้นหัวใจ วัดออกซิเจน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้คนไม่ต้องเจาะเลือด แถมยังเชื่อมกับแอปพลิเคชั่นได้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำเอไอ มาใช้ในการพัฒนา “เวชกรรมตรงเหตุ” ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. อุปกรณ์สวมใส่หรือเซนเซอร์ที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้าต่างๆ ที่สามารถวัดสัญญาณของระดับประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หรือระบบวัดระดับกลูโคส ผ่านสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่อกับแอพลิเคชั่นได้ 2. การนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการรักษา เช่น การรักษาโรคออทิสติกด้วยระบบซอฟต์แวร์ ร่วมกับระบบเทรนนิ่ง ตลอดจนเรื่องหุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งใช้เทคโนโลยีเอไอมาวางแผน 3. อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาในเรื่องซอฟต์แวร์ เฉกเช่นเดียวกับประเทศผู้นำที่ผลิตเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ ของโลก คือสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่ายุคเฮลท์เทคของวงการสุขภาพได้มาถึงแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ประเทศไทยควรทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเพื่อนำประโยชน์จากเทคโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากประเทศไทยสามารถรับรองผลการวิจัยได้เลยภายในประเทศ ก็จะเป็นการลดเงินทุนผู้ผลิต และตอบสนองต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน
ดร. เคตะ โอโน่ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมอินโนจีเนียร์ (Innogineer Studio) คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า Hackathon เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการระดมไอเดียในการแก้ปัญหาและวิเคราะห์ทำความเข้าใจถึงปัญหา เพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรมใหม่ งาน Global HealthTech Hackathon Challenges 2019 เป็นเวทีแข่งขันประชันไอเดียกันสดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 วัน 2 คืน คล้ายการแข่งมาราธอน โดยผู้แข่งขันจะได้รับโจทย์ก่อนลงพื้นที่พบผู้เชี่ยวชาญ เช่น รพ. ศิริราช , รพ. รามาธิบดี , ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และต้องทำโจทย์ให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ทีมใดมีความคมเข้มในศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาได้ มีความอดทนและบริหารเวลาได้ดีก็มิสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลมี 3 รางวัล และ NIA จะคัดเลือก 10 ทีม ที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพ
ในกระบวนการเฟ้นหาสุดยอดไอเดียครั้งนี้มุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ HealthTech ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้ฟูมฟักไอเดีย เรียนรู้เทคนิคการออกแบบ ฝึกทักษะการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ทั้งมี Mentors วิทยากรให้ความรู้ และเพิ่มประสบการณ์ในเวิร์คช้อป ได้ร่วมแข่งขันนำเสนอ Business Pitching
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th