ครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเซียแปซิฟิค โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) ริเริ่มเป็นเจ้าภาพจัดในนามประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดีเดย์เปิดประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง หรือ The 2019 International Advanced Medical Robotics Symposium (iAMRS 2019) ในวันที่ 15 – 16 มีนาคม ณ ห้องกมลทิพย์ 2-3 โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา โดยมี ศาสตราจารย์คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิจัย วิศวกร ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์จากนานาประเทศ ได้แก่ อังกฤษ , สหรัฐอเมริกา , ญี่ปุ่น , สิงคโปร์ ไต้หวัน , อินเดีย เป็นต้น
ศ. คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร (Udom Kachintorn) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในระยะการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 และรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และชีวการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve วันนี้จึงเป็นวันที่น่ายินดี ที่ประเทศไทยได้ริเริ่มเป็นเจ้าภาพ จัดงานประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง หรือ The 2019 International Advanced Medical Robotics Symposium (iAMRS 2019) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่เสริมสร้างเครือข่ายอันแข็งแกร่งระหว่างผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง สร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาคมโลก โดยร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิตและการวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตอันดีของประชาชนและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในหลายภูมิภาคโลก ในวันนี้ยังมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเป็นหุ้นส่วน ระหว่าง ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ Center for Biomedical and Robotics Technology (BART LAB) กับ แฮมลีน เซนเตอร์ มหาวิทยาลัยของอิมพีเรียล (HAMLYN CENTRE , Imperial College) แห่งประเทศอังกฤษ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (Jackrit Suthakorn) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า iAMRS 2019 นับเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญ ชูบทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูงบนเวทีโลก ผนึกพลังเป็นหนึ่งเดียวกันในการส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยและการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Advanced Medical Robotics) ซึ่งกำลังทวีบทบาทในการดูแลบำบัดรักษาสุขภาพด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยและปลอดภัย โดยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยและหลายประเทศ ที่สำคัญช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายต่างๆ ตลอดจนผลกระทบจากการผ่าตัดรักษา ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้เริ่มสร้างศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง (Advanced Medical Robotics Center) ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลค่าการลงทุน 400 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยศูนย์นี้จะมุ่งพัฒนาเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป นับเป็นการกระตุ้นและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูงของประเทศ
สาระของการประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง หรือ The 2019 International Advanced Medical Robotics Symposium (iAMRS 2019) ครอบคลุมเกี่ยวกับ หุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotics in Surgery) , หุ่นยนต์พยาบาลดูแลผู้สูงวัย (Robotics for Rehabilitation and Elderly) , มาตรฐาน กฏและข้อบังคับสำหรับหุ่นยนต์การแพทย์ (Standards, Rules and Regulations) , หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพและหุ่นยนต์โรงพยาบาล (Healthcare/Hospital Robotics) , ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ในการแพทย์ (Digital and AI in Medicine) , อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Robotics and Device Industry)
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th