5 กันยายน 2561 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 41 ให้การต้อนรับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ให้เกียรติมาร่วมปรึกษาหารือสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนประเทศไทยแลนด์ 4.0 ในการประชุม สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 41 ครั้งที่ 1 และโครงการเปิดบ้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 1 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า “ในศตวรรษที่ 21 ประเทศจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก ตามนโยบาย Thailand 4.0 อีกทั้งกระทรวงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งจะเป็นกระทรวงที่จะเกิดขึ้นเพื่อเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 และปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไทยไปสู่ฐานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เรื่องไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเน้นนโยบายเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม” และได้กล่าวถึงภารกิจของกระทรวงใหม่ ประกอบด้วย 3 คีย์เวิร์ด ที่จะทำให้ตอบโจทย์เรื่อง 4.0 ประกอบด้วย
- Future setting เป็นกระทรวงที่จะเชื่อมภาพปัจจุบันที่เราเป็นอยู่กับภาพอนาคตของประเทศ เพราะงานวิจัยคือองค์ความรู้ อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด หรือเกิดแล้วจะทำอย่างไรให้เกิดพลัง แล้วแปลงเป็นนวัตกรรม
- Game changing โลกที่ถูก disrupt เราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนกระบวนการความคิด แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะอยู่แบบแฟลตฟอร์มเดิมไม่ได้ จะต้องเป็นกระทรวงที่สามารถทำงานบนโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และจะต้องนำเรื่องของ thinking และ doing เข้าด้วยกัน เพราะไม่อย่างนั้นจะถูก disrupt
- Innovative Capacity Building คือ จะต้องสร้างงานสร้างคน ในลักษณะที่ตอบโจทย์ Innovation ให้ได้มากที่สุด เพราะเรื่องการศึกษาในยุค 4.0 คือ การเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม
ดร.สุวิทย์ สรุปไว้ว่า “เชื่อในคีย์เวิร์ด 3 คำนี้ว่า กระทรวงนี้จะต้องเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงไปสู่อนาคต เป็นกระทรวงที่จะทำให้เปลี่ยนแพลตฟอร์มที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ สามคีย์เวิร์ดนี้จะนำพาประเทศไทยไปสู่ 4.0 และเชื่อว่า มหาวิทยาลัย สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จะตอบโจทย์ และจะเชื่อมภาพเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง”
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 41 ได้ขานรับแนวทาง โดยในสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย มีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีความพร้อม ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมต่าง ๆ จึงพร้อมเดินหน้าจะรวมกลุ่มจัดคลัสเตอร์ เพื่อตอบโจทย์ด้านวิจัยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่อนาคต โดยจะเน้นให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของทุกมหาวิทยาลัยเพื่อจะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง