ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงาน “Thailand Robotics Week 2017 และการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Asia-Pacific 2017 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-18 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกจาก International RoboCup Federation ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยมหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์ จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และInternational RoboCup Federation ซึ่งมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) สนับสนุนการจัดงาน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธานเปิดงาน
ภายในงานมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมากกว่า 1,200 คน จาก 25 ประเทศทั่วโลก มีทีมร่วมแข่งขันกว่า 130 ทีม ซึ่งงานนี้ทีมนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันในประเภทต่าง ๆ ดังนี้
นายภัทรพงษ์ สว่างใจ, นายสรวิชญ์ เลิศวิไลกุลนที, นายทัตดนัย แก้วกาญจนเศรษฐ์, นางสาวพวงแก้ว ต่ายสกุลทิพย์ และนางสาวอารดา ศรีประเสริฐ ทีมนักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศ RCAP CoSpace Logistics Challenge (Major league) ประเภท Technical challenge |
นายพิสิฐ จิตวิริยนนท์, นายเขมรัตน์ เหลืองเมฆา, นายธนเดช คูหาวาสินี และนางสาวพิรญาณ์ วิดจายา ทีมนักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง RCAP CoSpace Logistics Challenge (Major league) ประเภท Grand challenge |
สำหรับการแข่งขัน RCAP CoSpace Logistics Challenge มีเป้าหมายเพื่อให้มีการใช้งานหุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับการทำงานและโรงงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เหมาะสำหรับทั้งนักเรียนในระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย โดยการแข่งขันนี้ได้พัฒนามาจากการใช้ไอเดียและคอนเซปต์ของ RoboCup@Industry ซึ่งมีการทำงานในแบบเชื่อมต่อ Real World และ Virtual Space แต่ละทีมจะต้องสร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่ และพัฒนาโปรแกรมการทำงานของหุ่นยนต์ของจริง โดยจะมีแขนกลคอยหยิบสิ่งของและนำใส่หุ่นยนต์เคลื่อนที่ ซึ่งหุ่นยนต์เคลื่อนที่มีหน้าที่ส่งสิ่งของไปยัง Teleportion Station และ Teleport ส่งของนั้น ๆ ไปยัง Virtual Space เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในโรงงานอัจฉริยะ
นอกจากนั้นไฮไลท์ของงานในปีนี้ คือมีการจัดงานแข่งขันด้านสตาร์ทอัพและการนำเสนอผลงาน (Robotics Start Up & Pitching Forum) ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานไอเดียที่เกี่ยวข้องกับการนำหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ IoT (Internet of Thing) เข้ามาแก้ปัญหาหรือพัฒนาศักยภาพด้านใดด้านหนึ่งของการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และเข้าร่วมแข่งขัน Pitching กับนักลงทุน และ Venture Capital จากทั้งในและต่างประเทศ
นายดิลก ปืนฮวน นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศ RCAP Robotics Startup and Pitching Forum |
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th