วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ บ้าน ๑๒ ชนเผ่า บ้านคำเดือยกลาง ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายสิริรัฐ ชุมอุปการผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ“ตุ้มโฮม ๔ ฮักแพง เบิ่งแญงป่า อำนาจเจริญ” การประชุมนี้จัดขึ้นโดยโครงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพสู่ชุมชนอย่างบรูณาการกรณีศึกษา จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีอาจารย์ดร.รมณีย์ ทองดารา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิงแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ดำเนินงานวิจัยภายใต้กรอบการดำเนินงานวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้พื้นที่ป่าชุมชนในจังหวัดอำนาจเจริญเป็นพื้นที่ดำเนินงานในการอนุรักษ์ปกปักพันธุกรรมพืช ตลอดจนการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ และขับเคลื่อนแผนการวิจัย ขยายผลสู่การเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างเครือข่ายป่าชุมชนทั้ง ๗ อำเภอ ของจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยความร่วมมือของคนสามวัย และบ้าน วัด โรงเรียน มากว่า ๕ ปี
ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัยในโครงการจากมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผลงานปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 คน การแสดงนิทรรศการป่าชุมชน และฮีต ๑๒ ของชมรมฮักแพงป่าอำนาจเจริญและเครือข่ายป่าชุมชน การจัดการเสวนา การให้คำปรึกษาแนะนำกระบวนการทำงานสนองพระราชดำริโครงการ อพ.สธ. โดย ผศ. เกษม กุลประดิษฐ์ ที่ปรึกษา โครงการ อพ.สธ. และอาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เพื่อส่งมอบข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยร่วมกันตลอดปีที่ผ่านมาของนักวิจัยและชมรมฮักแพงป่า เครือข่ายป่าชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมมือทำงานเพื่อสนองพระราชดำริของมหาวิทยาลัยมหิดลและจังหวัดอำนาจเจริญ โดยในปีนี้มีธีมในการนำเสนอเป็นการนำเอาในฐานทรัพยากรท้องถิ่น อันได้แก่ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอันดีงามของชาวอีสานและอำนาจเจริญ นั่นคือ “ฮีต ๑๒” มาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่การเกษตรและป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ และปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงมาสู่พื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจาก จารีตประเพณีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับ “ข้าว” ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน ซึ่งต้องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมเพื่อให้อนาคตคนอำนาจเจริญสามารถอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน คน น้ำ ป่า และวิถีเมืองธรรมะเกษตรอย่างกลมกลืน และยั่งยืนต่อไป
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th