วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เวลา 11.00 น. ณ Quartier Water Garden ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีการจัดแถลง "หลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ THAI-UK ระหว่าง Mahidol-Strathclyde" โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ University of Strathclyde สหราชอาณาจักร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หลักสูตรที่จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีนี้เป็นปีการศึกษาแรก และเป็นการแสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่ Thailand 4.0 ด้วยการเปิดหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตที่มุ่งสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม มุ่งเน้นเพิ่มบุคลากรและงานวิจัยคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโลก
สำหรับที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ University of Strathclyde สหราชอาณาจักร มีความร่วมมือกันในด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลจากการต่อยอดการลงนามความร่วมมือในงาน Symposium Mahidol-Strathclyde ที่จัดขึ้นในปี 2559 ที่ผ่านมา โดย University of Strathclyde เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการออกแบบและผลิตนวัตกรรม การที่ได้จัดทำหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อสร้างงานวิจัยที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สู่การเป็นผู้ประกอบการ และรองรับภาคอุตสาหกรรมโลกได้"
Prof. Alexander Galloway, Vice Dean of Engineering, University of Strathclyde ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ University of Strathclyde "ตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมามีการทำวิจัยร่วม การส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยน รวมทั้งการไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนกัน และด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการศึกษาทางวิชาการด้านการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากว่า 15 ปี นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นความพร้อมที่จะสามารถร่วมกันสร้างหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมุ่งมั่นพัฒนาศาสตร์ด้านวิศวกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน"
รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวถึงหลักสูตรสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ "เป้าหมายของหลักสูตรนานาชาติสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คือ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรจะสามารถจัดการกับปัญหาทั้งทางด้านวิศวกรรม และทางการแพทย์ตามความต้องการของสังคมและประชาคมระหว่างประเทศได้ โดยหลักสูตร Double Degree นี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปศึกษา ณ University of Strathclyde เป็นเวลา 2 ปี สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี โดยจะเน้นการศึกษาบนการทำโปรเจคและงานวิจัยร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตจะได้รับ 2 ปริญญา จากทั้ง 2 สถาบัน ซึ่งการเปิดหลักสูตรนานาชาตินี้นับเป็นก้าวหนี่งที่สำคัญของภาควิชา"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา คูอมรพัฒนะ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี กล่าวถึงคุณลักษณะเฉพาะของบัณฑิตจากหลักสูตรนานาชาติสาขาวิศวกรรมเคมี "เรามุ่งเน้นสร้างวิศวกรเคมีระดับมืออาชีพที่มีคุณสมบัติทางด้านการศึกษาและการทำงานให้กับนายจ้างทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการศึกษาหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีนี้ มุ่งเน้นทักษะการวิจัยในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ด้านเคมีร่วมกับทางมหาวิทยาลัย Strathclyde ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการร่วมกันร่างหลักสูตรที่สอดคล้องกันทั้งหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 2 ในหลักสูตรสามารถไปเรียนต่ออีก 2 ปี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Strathclyde ได้อย่างไร้รอยต่อ และเพื่อให้บัณฑิตที่จบมีทั้งทักษะด้านความรู้และทักษะด้านการปฏิบัติ พร้อมสำหรับการทำงานในระดับนานาชาติอย่างมืออาชีพ"
ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล และ British Council ได้กล่าวแสดงความยินดี และย้ำพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในความร่วมมือของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมาทาง British Council ก็ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยมหิดลในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนความเป็นนานาชาติอุดมศึกษาในประเทศไทยด้านการศึกษา ระหว่างประเทศ (Transnational Education) เพื่อจัดทำหลักสูตร Dual Degree ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ด้านมหาวิทยาลัยมหิดลก็พร้อมสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมใหม่ โดย 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ หลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่จะผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองตอบนโยบายดังกล่าว ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลหลักทั้งหมดหกแห่ง การจัดแถลงเปิดหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ในวันนี้ จึงเป็นการตอกย้ำบทบาทและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการสร้างมาตรฐานงานวิจัย และพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศบนพื้นฐาน Entrepreneurial University ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้มาประยุกต์และถ่ายทอดสู่ประชาคม เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมโลกในอนาคต
นอกจากการแถลงข่าวแล้ว ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม อาทิเช่น การผลิตไบโอดีเซลด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี หุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์ส่งยาอัตโนมัติสำหรับขนเวชภัณฑ์ในสถานดูแลผู้สูงอายุ สายสวนปัสสาวะเคลือบอนุภาคนาโนบรรจุสารต้านจุลชีพ หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในด้วยสัญญาณสมอง (ALERTZ) ซึ่งเป็นผลงานที่ตอบสนองนโยบาย Startup ของรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้หลักสูตรพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
Faculty of Engineering, Mahidol University. (Mahidol, Engineering.)
25/25 Phuttamonthon 4 Road, Salaya, Phuttamonthon, Nakhon Pathom 73170 Thailand
Tel: +66 2889 2138
Fax: +66 2441 9731
Email: engineering@mahidol.ac.th