ในยุคแรกที่ระบบรางให้บริการการเดินทางระหว่างเมือง การทำแผนที่ระบบรางเป็นการวางรูปโครงข่ายซ้อนทับลงไปโดยตรงบนแผนที่ภูมิประเทศตามมาตราส่วน แต่เมื่อระบบรางเปลี่ยนบทบาทเข้ามาเป็นโครงข่ายที่ให้บริการเชื่อมต่อระหว่างชานเมืองและตัวเมือง ช่างทำแผนที่ก็เริ่มประสบปัญหากับการรักษาสมดุลระหว่างพื้นที่ทั้งสอง แผนที่ระบบรางจะต้องแสดงรายละเอียดของเส้นทางในเมืองชั้นในที่ซับซ้อน ขณะที่แผนที่บริเวณชานเมืองไม่ต้องการรายละเอียดสูงแต่ต้องใช้พื้นที่มากเพื่อแสดงระยะทางจริงบนมาตรส่วนเดียวกัน
Harry Beck ช่างเขียนแบบชาวอังกฤษ นำเอารูปแบบการเขียนแผนผังวงจรไฟฟ้ามาปรับใช้กับแผนที่รถไฟใต้ดินของลอนดอน Beck เชื่อว่าผู้เดินทางไม่สนใจความถูกต้องของระยะทางหรือตำแหน่งจริงของสถานี แต่ต้องการทราบวิธีการเชื่อมต่อจากสถานีหนึ่งไปยังสถานีอื่นๆ และตำแหน่งที่สามารถเปลี่ยนขบวนได้เท่านั้น เขาจึงสร้างแผนที่ซึ่งให้ข้อมูลการเดินทางแต่ไม่อ้างอิงกับมาตราส่วน โดยใช้เพียงเส้นในแนวนอน แนวตั้ง และเส้นทแยงทำมุม 45 องศา รถไฟสายต่างๆ ถูกกำหนดให้มีสีที่แตกต่างกัน สถานีถูกวางให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน พื้นที่ส่วนกลางถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นเพื่อแสดงชื่อและตำแหน่งสัมพัทธ์ของสถานี ขณะที่พื้นที่ชานเมืองถูกย่อให้เล็กลงเพื่อบรรจุข้อมูลทั้งหมดในกระดาษแผ่นเดียว
การขนส่งแห่งลอนดอน (London Transport) ตีพิมพ์และแจกจ่ายแผนที่ของ Beck ในปีค.ศ. 1933 และกลายเป็นแผนที่ฉบับที่ได้รับความนิยมจากผู้เดินทางอย่างมาก การขนส่งแห่งลอนดอนยึดรูปแบบของ Beck ในการปรับปรุงแผนที่ระบบรถไฟใต้ดินในแต่ละยุค โดยเพิ่มเส้นทางและสถานีใหม่ที่สร้างขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 80 ปี ขณะที่เมืองต่างๆ ก็นำรูปแบบแผนที่ของ Beck ไปปรับใช้กับแผนที่ระบบราง รถโดยสารและระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อในเมืองจนกลายเป็นรูปแบบที่คุ้นตาของผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทั่วโลกในที่สุด