การแข่งขันและความร่วมมือทางธุรกิจในยุคแห่งการค้าเสรี ปัจจุบันนั้นมิใช่เป็นเพียงการแข่งขันและความร่วมมือระหว่างองค์กรกับองค์กรเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันและความร่วมมือระหว่างโซ่อุปทานกับโซ่อุทาน การแข่งขันและความร่วมมือนี้มีนัยสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวขององค์กรต่างๆ ในการนำโลจิสติกส์และโซ่อุปทานทั้งในมิติของวิศวกรรมและการจัดการมาใช้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคการบริการ เช่น บริการสุขภาพ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมการแพทย์เป็น 2 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ ในส่วนของจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นปริมณฑลของกรุงเทพมหานครและเป็นประตูไปสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้นั้น โลจิสติกส์อุตสาหกรรมและบริการมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด รวมถึงการคมนาคมขนส่งผ่านจังหวัด นอกจากนี้ยังพบว่าในภาคบริการสุขภาพซึ่งมีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงและประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ แต่กลับยังไม่ได้มีการนำหลักการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศเท่าที่ควร จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจในข้างต้นส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการออกแบบ วางแผน ดำเนินการ และประเมินผลโลจิสติกส์และโซ่อุปทานแบบบูรณาการทั้งระบบทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการสุขภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งให้ความสำคัญทั้งกับโลจิสติกส์อุตสาหกรรมและบริการและโลจิสติกส์การดูแลสุขภาพไปพร้อมๆ กัน
ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรนี้เป็นพหุวิทยาการซึ่งบูรณาการศาสตร์ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ การจัดการอุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องเข้ากับศาสตร์ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยมุ่งผลิตมหาบัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและประยุกต์พหุวิทยาการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีทักษะในการทำวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลและประเมินผลงานวิจัยอย่างเป็นระบบ เป็นผู้นำความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว มหาบัณฑิตจะมีความรู้ ความสามารถดังนี้
1. มีคุณธรรม จริยธรรมตามมาตรฐานจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
2. มีความรู้และความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
3. วิเคราะห์ วิจารณ์ผลงานวิจัย สร้างงานวิจัยด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานและดำเนินกระบวนการวิจัยได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามจริยธรรมการวิจัย และสามารถใช้กระบวนการวิจัยผลิตงานวิชาการอื่นๆ ทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
4. มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
5. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษาค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง และนำเสนอผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้วหลักสูตรคาดหวังว่ามหาบัณฑิตจะสามารถ
1. สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการอย่างมีจริยธรรม
2. ประยุกต์หลักการจัดการสินค้าคงคลัง คลังสินค้า การขนส่งและการกระจายสินค้า ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ประยุกต์ความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในการปรับปรุงอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ
4. วิเคราะห์ปัญหาและเสนอวิธีการแก้ปัญหาตามระเบียบวิธีวิจัยอย่างป็นระบบได้
5. ทำงานเป็นทีมร่วมกับสายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
6. สื่อสารและเลือกวิธีการนำเสนอข้อมูลได้อย่างเหมาะสม