7 ตุลาคม 2559 เวลา 10:00 น. ณ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ จากภาควิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ โดยมีการร่วมลงนาม เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนาในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยให้สามารถเติบโตได้ในระดับมาตรฐานสากลตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า "คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมีประสบการณ์การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการศึกษาทางวิชาการทางด้านการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากว่า 15 ปี เป็นความพร้อมที่จะสามารถส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยได้ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศ ผ่านสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยอีกด้วย" ภายในงานมีผู้ร่วมลงนามหลัก 4 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านได้กล่าวถึงบทบาทในความร่วมมือครั้งนี้
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมสนับสนุน นโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมใหม่ โดยหนึ่งในห้าอุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบนโยบายดังกล่าว ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลหลักทั้งหมดหกแห่ง มหาวิทยาลัยจึงมุ่งต่อยอดงานวิจัยเชิงเศรษฐกิจโดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมระดับชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ การลงนามความร่วมมือในวันนี้จึงเป็นการตอกย้ำบทบาทและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการสร้างมาตรฐานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศบนพื้นฐาน Entrepreneurial University ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้มาประยุกต์และถ่ายทอดสู่ประชาคม"
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า "ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีหน้าโดยตรงในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งในด้านการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และธรรมาภิบาล เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะทำเกิดความคึกคักในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย"
คุณบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "จากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 การทำงานร่วมกันของบริษัทกลุ่มเครื่องมือแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่าโดยมากแล้วการที่ภาคอุตสาหกรรมจะมีโอกาสได้สื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับปัญหาหรือความต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือการได้รับโจทย์วิจัยทางการแพทย์โดยตรงนั้นเป็นไปได้ยากมาก ซึ่งโดยมากแล้วโจทย์จากทางการแพทย์มักเกิดจากการรับรู้ถึงปัญหาต้นน้ำ ซึ่งก็คือจากทางโรงพยาบาล จากบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีเวทีจะมาสื่อสารกันโดยตรง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ครั้งสำคัญ"
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กล่าวว่า "ที่ผ่านมา TCELS ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม หลายมหาวิทยาลัย โดยได้ตั้งศูนย์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและต้นแบบหุ่นยนต์ รวมถึงเครื่องมือแพทย์ และกำลังสร้างหน่วยวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นศูนย์ทดสอบหุ่นยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังขาดอยู่ และที่สำคัญ TCELS กับพันธมิตรทั้งหมดในวันนี้กำลังจับมือกันดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (Transformation Program) เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการมีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้"
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวสนับสนุนว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีพันธกิจสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมให้แก่ภาคการผลิตและบริการ เป็นเสมือนการเอื้อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นองค์ความรู้และผลจากงานวิจัยที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมไทย ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคอุตสาหกรรมมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ซึ่งมีอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมี Impact ระดับโลก ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความยินดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ไทยก้าวไกลไปสู่ระดับนานาชาติ โดยจะทำหน้าที่ร่วมกับภาคการศึกษาในการผลิตผลงานวิจัยออกสู่ภาคเอกชน นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย"
ดร.อรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวสนับสนุนว่า "จากนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 และนโยบายที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็น Medical Hub of Asia หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขาดไม่ได้ คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทย และคาดหมายกันว่าจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่จะสร้างมูลค่าทางการตลาดให้อย่างมหาศาล สิ่งท้าทายประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาให้กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมการแพทย์ขั้นสูงและการทำให้เครื่องมือแพทย์ได้มาตรฐานสากลเพื่อสร้างการยอมรับของผู้ใช้งาน ช่วยทดแทนการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้
การสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในครั้งนี้จะเป็นแนวทางหลักของรัฐบาลในการดำเนินการสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตและเข้มแข็งต่อไป"
นอกจากผู้ลงนามหลักทั้ง 4 ในงานยังได้รับเกียรติจากผู้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธี ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคุณรัตนา เล็งศิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานจากทั้ง 4 หน่วยงานมากมาย อาทิเช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด วัสดุศัลยกรรมกระดูก อุปกรณ์อำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ เป็นต้น
Master Program in Civil Engineering (International Program),
Department of Civil and Environmental Engineering,
Faculty of Engineering, Mahidol University
Address: 25/25 Puttamonthon 4 Rd., Salaya, Puttamonthon,
Nakhon Pathom 73170, Thailand
Phone: (+66) 2889 2138 ext. 6396-7
Fax: (+66) 2889 2138 ext. 6388
Email: pacharee.pru@mahidol.ac.th,
wutjanun.mut@mahidol.ac.th, teraphan.orn@mahidol.edu