วิศวะพบ นวัตกรรมใหม่! ระบบส่งยารักษามะเร็งในเด็ก มะเร็งสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นเด็กราว ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ คนต่อปี ชนิดของมะเร็งในเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยมากจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โครงการมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งในเด็กจนสามารถรักษาให้หายขาด และมีอัตราการรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ ๗๕ หรือ ๓ ใน ๔ ของเด็กที่เป็นโรคมะเร็งมีโอกาสหายขาดและรอดชีวิต
นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดสำคัญของการใช้ยาในการรักษาแบบเคมีบำบัดแบบทั่วไป จึงเป็นที่มาของงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่งคือการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบส่งยาที่สามารถจะนำยาต้านมะเร็งในปริมาณที่ต้องการไปสู่เซลล์มะเร็งโดยตรง (intratumoral implantation) ซึ่งเป็นผลงานของ อาจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยนวัตกรรมการใช้ PLEC โคพอลิเมอร์มาเป็นวัสดุสำหรับระบบส่งยาซึ่งสามารถปล่อยยาสู่เซลล์มะเร็งโดยตรงในปริมาณที่กำหนด เป็นการรักษาที่ตรงจุด เห็นผล ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้นได้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ความก้าวหน้าผลการวิจัยการรักษามะเร็งในเด็กและนวัตกรรมระบบส่งยารักษามะเร็ง” ในวันอังคารที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม ๖ (ข้างโรงพยาบาลรามาธิบดี) โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากมายหลายสำนัก
อาจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา เจ้าของผลงาน ยังกล่าวอีกว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ตนค้นพบยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด...