|
|
คนเราหากมีการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายมีความอ่อนล้าและอ่อนเพลีย ระบบสั่งการของสมองก็จะมีปัญหา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมหรือปฏิบัติภารกิจใด ๆ ก็ตาม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุบนท้องถนน เสี่ยงต่อการสูญเสียเป็นอย่างมาก
ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัย และพัฒนา “เครื่องวัดระดับการงีบหลับด้วยสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ” ขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการลดการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยทีมนักวิจัยได้อธิบายหลักการทำงานของเครื่องว่า มีขั้ววัดสัญญาณอิเล็กโทรดทั้งหมด 3 สาย นำสายดังกล่าวไปติดที่ศีรษะเพื่อตรวจวัดและวิเคราะห์คลื่นสมองของมนุษย์ เครื่องนี้จะส่งสัญญาณไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมวิเคราะห์การนอนหลับว่าอยู่ในระดับใด และหากหลับอยู่ในระดับ 2 เครื่องจะส่งเสียงปลุกอัตโนมัติ เพราะคนเราจะมีนาฬิกาชีวิตอยู่ 5 ระดับ แบ่งได้ดังนี้ ระดับ 1 กึ่งหลับกึ่งตื่น ระดับ 2 หลับตื่น ระดับ 3-4 เป็นช่วงหลับลึก ระยะสุดท้ายเป็นช่วงหลับฝันนั่งเอง ซึ่งการงับหลับเข้าสู่ในช่วงระดับที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เมื่อตื่นขึ้นมาจะทำให้รู้สึกสดชื่น กระปี้กระเป่า หายง่วงพร้อมจะทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี จัดการแข่งขัน “นั่งงีบหลับหลังอาหารกลางวัน กลางห้าง” ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะใช้เครื่องวัดระดับการงีบด้วยสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการแข่งขัน ที่ Central World ชั้น 1 โซน เอเทรี่ยม1 ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน ที่ผ่านมา
|
|