หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566 เปิดให้นักศึกษาเลือกเรียนได้สามแขนงวิชาชีพ คือ วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร และ เทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ละแขนงวิชาชีพสามารถเลือกเรียนแผนโครงงาน (วิชาการ) หรือแผนสหกิจศึกษาเพื่อเพิ่มประสบการณ์การทำงานกับผู้ประกอบการได้ โดยจำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตรจะเท่ากันทั้งหมดที่ 138 หน่วยกิต
การเรียนในสองแขนงวิชาชีพแรกจะเป็นการเรียนที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ตามที่สภาวิศวกรกำหนด เพื่อให้นักศึกษาสามารถขอสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของประเทศไทยเมื่อจบการศึกษาได้ ในขณะที่แขนงวิชาชีพเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นการเรียนแบบใหม่ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เปิดให้นักศึกษาออกแบบแผนการเรียนของตนเองได้ โดยสามารถเลือกเรียนข้ามศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ของวิศวกรรมศาสตร์ได้ตามความสนใจ ทั้งสามแขนงวิชาชีพมีรายละเอียดดังนี้
แขนงวิชาชีพวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง
นักศึกษาจะได้เรียนรู้ กระบวนการผลิต ส่งจ่าย จำหน่าย และการใช้งานของระบบไฟฟ้ากำลัง ข้อพึงปฏิบัติ มาตรฐาน และความปลอดภัยในการออกแบบและติดตั้งทางไฟฟ้า รวมถึงการจัดการโรงไฟฟ้า และต่อยอดความรู้สู่การแปลงรูป การกักเก็บและการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งนวัตกรรมทางด้านพลังงานใหม่ ๆ อาทิ ระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ระบบ smart grid การจัดการและวางแผนให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
รายวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมที่เรียนจะเป็นไปตามองค์ความรู้ที่สภาวิศกรกำหนดจำนวน 20 หน่วยกิต และรายวิชาเลือกตามองค์ความรู้เพิ่มเติมอีก 6 หน่วยกิต
วิชาบังคับ: Control systems, Power Electronics, Electrical Power System Analysis, Electrical Machines, Electrical System Design, Electrical Power Laboratory, Electrical Machines Laboratory, Renewable Energy.
ความก้าวหน้าในสายอาชีพหลังจบการศึกษา อาทิ Electrical System Engineer, Power Electronics Engineer, Power plant / Smart Grid Engineer, Field Electrical Engineer, Interconnection / System Integration Engineer, Power Protection Engineer, Renewable Energy Engineer.
แขนงวิชาชีพวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร
นักศึกษาจะได้เรียนรู้หลักการทำงานของระบบสื่อสารทั้งแบบมีสายและไร้สาย ระบบการรับ-ส่งสัญญาณที่ความถี่ต่างๆ ตั้งแต่คลื่นวิทยุไปจนถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ความมั่นคงของระบบข้อมูลและระบบสื่อสาร เพื่อต่อยอดสู่การออกแบบและการทำงานของเครือข่ายโทรคมนาคม สารสนเทศเพื่อการบริการ
รายวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมที่เรียนจะเป็นไปตามองค์ความรู้ที่สภาวิศวกรกำหนดจำนวน 20 หน่วยกิต และรายวิชาเลือกตามองค์ความรู้เพิ่มเติมอีก 6 หน่วยกิต
วิชาบังคับ: Control Systems, Principles of Communications, Communication Network and Transmission Lines, Digital Communications, Data Communications and Networks , Telecommunication Laboratories I and II.
ความก้าวหน้าในสายอาชีพหลังจบการศึกษา อาทิ Telecom Network Engineer, Telecom System Engineer, RF Planning / Optimizing Engineer, Telecom Project Manager, Telecom Sale Manager.
แขนงวิชาชีพเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า
นักศึกษาจะมีอิสระในการเรียนแบบผสมผสานตามความสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนในแขนงนี้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในรายวิชาเฉพาะทาง 26 หน่วยกิตได้เองทั้งหมด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนรายวิชาของวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาอื่น เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือ วิศวกรรมเครื่องกล ได้มากถึง 22 หน่วยกิตอีกด้วย ตัวอย่างแผนการเรียน อาทิ
- การเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าร่วมกับระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งและศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถดูแลระบบการจัดส่ง และการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วมกับพลังงานทดแทนได้
- การเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และระบบฝังตัว ร่วมกับระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง เพื่อพัฒนาระบบประมวลผลอัตโนมัติของระบบควบคุมในยานยนต์ไฟฟ้าได้
เป็นต้น
ตัวอย่างรายวิชาเลือกทางวิศวกรรมไฟฟ้าและรายวิชาเลือกข้ามศาสตร์ Rail Engineering, Cyber security, Energy planning, Data Science, Clean Energy, Wearable devices, Machine Learning, Internet of Things, Embedded System, Cost Analysis, Robotics.
ความก้าวหน้าในสายอาชีพหลังจบการศึกษา อาทิ Traction Power Engineer, Network Security Engineer, IC Design Engineer, Software Engineer, Systems Engineer, AI Engineer, Data Analyst, IT engineer.