Auto-Tech Club

ชมรม Auto-Tech
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปัจจุบันนี้ วิทยาการใหม่ๆทางด้านยานยนต์นั้นได้รับการคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดประสงค์ส่วนใหญ่ก็เพื่อพัฒนาสมรรถนะที่ดีควบคู่กับการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า การแข่งขันโครงการ TSAE Auto Challenge จึงเป็นโอกาสหนึ่งในการแสดงศักยภาพในด้านการวิจัยและพัฒนาการสร้างรถแข่งต้องใช้ความรู้พื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมหลายด้าน โดยมีขอบเขตตามกฎการแข่งขันที่กำหนดเป็นมาตรฐานมาจาก JSAE (Society of Automotive Engineers of Japan) ในการแข่งขันจริง ความสมบูรณ์แบบของรถเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณทางวิศวกรรมที่ละเอียดรอบคอบและการคำนึงตัวแปรอื่นๆในสนามแข่งจริง ฉะนั้นจึงต้องมีการวางแผนงาน โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาต่างๆจากรถที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีที่แล้วมา ออกแบบโครงสร้าง ออกแบบระบบช่วงล่าง การเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ ออกแบบระบบ Aerodynamic และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อื่นๆขึ้นบนตัวรถ รวมทั้งการทดสอบจริง เพื่อที่จะทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขได้ทันท่วงทีเพื่อความพร้อมสำหรับการแข่งขันต่อไป

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย หรือ TSAE (Society of Automotive Engineers Thailand) ได้จัดให้มีการแข่งขันประดิษฐ์รถในรูปแบบของ Formula Car ในระดับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ให้ประโยชน์และความรู้ทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการ ด้านปฏิบัติและเรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านยานยนต์ของประเทศ

ทางชมรม Auto-Tech ได้ศึกษาถึงอุปสรรคและปัญหาต่างๆรวมทั้งประสบการณ์จากการร่วมแข่งขันในปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาปรับปรุง โดยการดำเนินงานของโครงการปีที่ผ่านมา พบว่ามีอุปสรรคและปัญหามากมายเกิดขึ้น ทั้งในด้านการออกแบบ การบริหารจัดการ ความสอดคล้องกับกติกาการแข่งขัน รวมทั้งความไม่พร้อมของสถานที่และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนซึ่งแบ่งหัวข้อในการทำงานออกเป็นสี่หัวข้อ ได้แก่ โครงสร้าง เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง ตัวถัง ระบบไฟฟ้า บริหารจัดการ โดยการสร้างและออกแบบคำนึงถึง จุดบกพร่องของรถคันเดิม ประสบการณ์การเข้าร่วมการแข่งขัน ทฤษฎีทางด้านวิศวกรรมยานยนต์และที่สำคัญคือกฎกติกาการแข่งขัน

วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการนำความรู้จากการศึกษาวิศวกรรมยานยนต์มาใช้
2. เพื่อพัฒนาประสบการณ์ทางด้านยานยนต์
3. เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน TSAE Auto Challenge 2012-2013
4. เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้รับความรู้ เกี่ยวกับการออกแบบ รถแข่ง ตามหลักทางวิศวกรรม
2. ได้รับประสบการณ์ จากการลงมือปฏิบัติในการสร้างรถแข่ง
3. เป็นแนวทางในการศึกษา และพัฒนาการออกแบบ สร้างรถแข่งในรุ่นต่อไป