สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีบทบาทในชีวิตประจำวันมาก นับตั้งแต่ วีดิโอเกม นาฬิกา โทรศัพท์เคลื่อนที่ พีดีเอ (เครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิทัล) เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก จนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่รุดหน้ารวดเร็วได้ปฏิวัติวิถีชีวิตของคนเราอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นวิศวกรคอมพิวเตอร์จึงมีบทบาทสำคัญและจำเป็น ในฐานะเป็นผู้ออกแบบ ปฏิบัติการ และบำรุงรักษาอุปกรณ์และบริการต่างๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นศาสตร์ที่รวมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีในการออกแบบ สร้าง พัฒนา และบำรุงรักษาส่วนประกอบทางซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของระบบคอมพิวเตอร์สมัย ใหม่ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์
แรกเริ่มนั้น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ถูกมองว่าเป็นการรวมเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ทว่าสามสิบปีที่ผ่านมา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้แยกตัวเป็นสาขาความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งยังเกี่ยวข้องกับศาสตร์ทั้งสองอยู่ แต่เน้นรากฐานที่ทฤษฎีและหลักการทางคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ อีกทั้งยังประยุกต์ทฤษฎีและหลักการเหล่านี้เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยอาศัยการออกแบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์ก และกระบวนการทำงานต่างๆ
ความสำเร็จในการลดขนาดอุปกรณ์ซิลิคอนในปัจจุบัน ทำให้คอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ดังเห็นได้จากตัวอย่างเช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ พีดีเอ กล้องดิจิทัล นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องใช้อีกนับไม่ถ้วน เช่น รถยนต์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ต่างๆ ดังนั้น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์จึงได้พัฒนาไปสู่การออกแบบระบบที่เกี่ยวข้องกับ คอมพิวเตอร์ ทำให้วิศวกรคอมพิวเตอร์ทำงานได้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้วิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นสาขาที่ท้าทายและน่าสนใจ อีกทั้งความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจากรัฐและองค์กรต่างๆ เอื้ออำนวยให้บุคลากรด้านนี้เป็นที่ต้องการจากทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในไทยและต่างประเทศ
วิศวกรคอมพิวเตอร์ทำงานออกแบบระบบที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงทำงานในอุตสาหกรรมหลากหลาย เป็นต้นว่า อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ อวกาศและโทรคมนาคม การผลิต การทหาร ธนาคาร และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
วิศวกรคอมพิวเตอร์ออกแบบอุปกรณ์เทคโนโลยีระดับสูง ตั้งแต่ชิปไอซีไมโครอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ ไปจนถึงระบบใหญ่ๆ ที่นำชิปนั้นไปใช้งาน และสามารถออกแบบระบบโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า (เช่น เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี โทรทัศน์ วิทยุ ไมโครเวฟ และอุปกรณ์เกมต่างๆ) ไมโครโพรเซสเซอร์ขั้นสูง อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ ระบบสำหรับคอมพิวเตอร์สำหรับรับ-ให้บริการ (ไคลเอนท์-เซอร์เวอร์) อุปกรณ์โทรคมนาคม วิศวกรคอมพิวเตอร์ทำงานในระบบแลน (เครือข่ายเฉพาะที่) แวน (เครือข่ายบริเวณกว้าง) ระบบเครือข่ายไร้สาย อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และทำงานกับระบบที่มีวงจรคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบ เช่น เครื่องบิน ยานอวกาศ ระบบควบคุมยานยนต์
หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาตรี ม. มหิดล เปิดสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537โดยแรกเริ่มนั้นหลักสูตรนี้อยู่ในความรับผิดชอบของภาควิศวกรรมไฟฟ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 จึงมีการก่อตั้งโครงการจัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้น เพื่อดูแลหลักสูตรนี้โดยตรง ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติของวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาตรีขึ้น โดยความร่วมมือของวิทยาลัยนานาชาติ ม. มหิดล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. มหิดล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ปัจจุบันจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมชีวการแพทย์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. มหิดล มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ ทุนวิจัย และทุนการศึกษา รวมทั้งมีการเรียนการสอนในวิชาการขั้นสูงต่างๆ โดยมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากภาครัฐและเอกชนต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพเทียบเท่า มาตรฐานสากล
มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของ ประเทศไทย ในการเป็นมหาวิทยาลัยดีที่สุดจากการจัดอันดับ QS Asian Universities Ranking 2009 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยของรัฐของไทย 4 แห่งเท่านั้นที่ติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย คือ ม. มหิดล เป็นอับดับที่ 30, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับที่ 35, ม. เชียงใหม่ เป็นอันดับที่ 81 และ ม. ธรรมศาสตร์ เป็นอันดับที่ 85