ค้นคว้าและพัฒนา

ศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการ

ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและฝึกอบรมทางด้านนิติวิทยาดิจิตอล

ปัญหาความมั่นคงของข้อมูลบนคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศ ข่าวการปลอมแปลงข้อมูล การพิสูจน์ตัวตนและการยืนยันความเป็นข้อมูลต้นฉบับที่ไม่ถูกปลอมแปลง การสืบค้นหาพยานหลักฐานในรูปแบบดิจิทัลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของผู้กระทำผิด รวมถึงการโจมตีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของผู้ไม่หวังดีมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆจึงได้เพิ่มความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการสืบค้นข้อมูลหลักฐานดิจิทัล การตรวจสอบหลักฐานดิจิทัล รวมไปถึงกระบวนการย้อนรอยไปยังผู้กระทำผิดเพื่อที่จะหาตัวมาดำเนินการทางกฎหมาย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้เช่นกัน ดังนั้นทางภาควิชาฯจึงได้ระดมความคิดเห็นและมีมติที่จะจัดตั้งโครงการพัฒนานวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านนิติวิศวกรรม รวมทั้งจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต เพื่อพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิศวกรรม เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญให้กับหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชน

ดังนั้นทางภาควิชาฯ จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งห้องปฏิบัติการ Digital Forensicsร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, สำนักนิติวิทยาศาสตร์, และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ในปี พ.ศ. 2552 เพื่อขยายความเครือข่ายความร่วมมือในงานทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล โดยทางภาควิชาฯ เป็นแกนหลักในการพัฒนาหลักสูตร, บุคลากร และผู้เชี่ยวชาญในสายงานนิติวิทยาดิจิทัล

วัตถุประสงค์

  • เพื่อพัฒนา นวัตกรรมด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • เพื่อผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา
  • เพื่อวิจัยหากระบวนการที่นำไปสู่การสร้างมาตรฐานการรองรับการพิสูจน์ ยืนยัน และวิเคราะห์หลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • เพื่อให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
  • เพื่อวิจัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์

เป้าหมาย (จำแนกตามปีงบประมาณ ตั้งแต่เริ่มโครงการ-สิ้นสุด)

  • สร้างห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • สร้างบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา
  • สร้างนักวิจัยด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • สร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานในการพิสูจน์ ยืนยัน หลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ

  • มีห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • มีบุคลากรและนักวิจัยด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น
  • มีมาตราฐานในการรับรองกระบวนการพิสูจน์ ยืนยัน หลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
  • นำองค์ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการยุติธรรม
Lab Forensic
Lab Computer
Common Area
Lab Icube

ศูนย์อบรมและการพัฒนานวัตกรรมทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล (Digital Forensics and Innovation Training Center (DFIT)) จัดตั้งขึ้นในปี 2553 ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตศาลายา) โดยมีเป้าหมายหลักคือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้สำหรับกระบวนการเก็บ การสืบสวน และการวิเคราะห์หลักฐานดิจิทัล ให้แก่สาธารณะและหน่วยงานรัฐบาล ศูนย์อบรมและการพัฒนานวัตกรรมทางด้านนิติวิทยาดิจิทัลมีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้และมีความเชี่ยวชาญในทุกรูปแบบของหลักฐานดิจิทัล ทั้งคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรและล็อกจากระบบเครือข่าย โลกไซเบอร์ และการค้นคืนข้อมูล

ห้องปฏิบัติการ Computer Lab (6272)

ห้องปฏิบัติการ Computer Lab (6272) เป็นห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ อาทิ วิชา Mobile programming, วิชา Programming Techniques ตลอดจนวิชา Image processing โดยประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิด Macintosh Mini จำนวน 40 เครื่อง พร้อมทั้งเครื่องสำรองไฟในกรณีฉุกเฉิน

 

ห้องปฏิบัติการ Embedded Laboratory & Digital Circuit Laboratory (6273)

ห้องปฏิบัติการ Embedded Laboratory & Digital Circuit Laboratory (6273) เป็นห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 40 เครื่อง ในระบบปฏิบัติการ Windows 10 มีเครื่องสำรองไฟสำหรับกรณีฉุกเฉิน ตลอดจนบอร์ดทดลองและพัฒนา ชนิด Node MCU ESP8266, บอร์ด Raspbery pi 3 พร้อมอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนอย่างครบครัน อาทิ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดแรงกด เซนเซอร์วัดแกนระนาบ ระบบเชื่อมต่อเครื่องข่ายทั้งสำหรับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทดลองระบบฝังตัว เป็นต้น

พื้นที่ส่วนกลางสำหรับนักศึกษา (Common room)

พื้นที่ส่วนกลางสำหรับนักศึกษาเป็นพื้นที่ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ร่วมกันในทุกชั้นปี มีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม การเพิ่มพูนทักษะจากการแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่นักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เตรียมพื้นที่ส่วนกลางสำหรับนักศึกษาจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรไทย ปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรมหาบัณฑิต โดยมีระบบอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์ของนักศึกษา อาทิ คอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด เป็นต้น

ห้องปฏิบัติการวิจัยภาพ ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (i-Cube Lab: Image Information and Intelligence Laboratory)

ห้องปฏิบัติการวิจัย i-Cube คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการงานวิจัยทางด้านการประมวลผลภาพ การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนการพัฒนาแฟลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมในระดับเทคนิคทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยมุ่งเน้นในการสร้างและพัฒนางานวิจัยที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ ควบคู่ไปกับการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยของนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีโทเอก ให้มีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยและมีความพร้อมในการทำงานจริง